ผู้หญิงในโลกออนไลน์กัมพูชาแสดงความไม่พอใจ หลังมีการเสนอร่างกฎหมายให้ปรับผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าสวมชุดที่เปิดเผยรูปร่าง
ร่างกฎหมายนี้จะห้ามผู้หญิงไม่ให้สวมชุดที่ "สั้นเกินไปหรือเปิดเผยรูปร่างมากเกินไป" และห้ามผู้ชายเปลือยท่อนบน รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายนี้เพื่อพยายามที่จะรักษาประเพณีวัฒนธรรมและเกียรติภูมิทางสังคมไว้
แต่โมลิกา ทัน วัย 18 ปี เห็นว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นการโจมตีผู้หญิง และเริ่มมีการรณรงค์ให้คนร่วมยื่นคำร้องทางออนไลน์ต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าว
"ในฐานะคนกัมพูชารุ่นใหม่ ฉันอยากจะออกไปข้างนอกโดยรู้สึกปลอดภัย และสวมใส่ชุดที่ฉันรู้สึกสบายใจที่จะสวม ฉันอยากจะแสดงความเป็นตัวเองผ่านเสื้อผ้าที่ฉันสวมใส่ได้ และไม่อยากให้รัฐบาลมาจำกัดฉัน"
"ฉันเชื่อว่า มีอีกหลายวิธีในการรักษาประเพณีวัฒนธรรมแทนที่จะบังคับใช้กฎหมายที่จัดการกับผู้หญิงที่สวมกระโปรงสั้น" เธอกล่าว
คำร้องทางออนไลน์ต่อต้านร่างกฎหมายนี้ของเธอมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วมากกว่า 21,000 คน
ผู้หญิงกัมพูชาอีกหลายคนก็ได้แชร์ภาพของตัวเองผ่านทางโซเชียลมีเดียพร้อมกับติดแฮชแท็กว่า ฉันจะถูกปรับเพราะชุดนี้ไหม และ ร่างกายของฉันทางเลือกของฉัน
"เราถูกคาดหวังให้ยอมจำนนต่อผู้ชายมาโดยตลอด" ทันกล่าวและให้ความเห็นว่า ทัศนคติหลายอย่างเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามประเพณีที่บอกว่า ผู้หญิงต้องนอบน้อมและว่านอนสอนง่าย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรามผู้หญิงที่สวมชุดเปิดเผยรูปร่างโดยห้ามการแสดงที่นักร้องและนักแสดงถูกมองว่าแต่งตัวไม่เหมาะสม
ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้หญิงคนหนึ่งถูกลงโทษจำคุก 6 เดือนจากการถูกตั้งข้อหาถ่ายภาพโป๊เปลือย และแสดงลามกอนาจารจากการสวมชุดที่ "ยั่วยวน" ขณะขายเสื้อผ้าทางโซเชียลมีเดีย
ในตอนนั้น นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เรียกการถ่ายทอดสดทางโซเชียลมีเดียของผู้หญิงว่า "การละเมิดวัฒนธรรมและประเพณีของเรา" และบอกว่า พฤติกรรมดังกล่าวมีส่วนทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงต่อผู้หญิง
อายลิน ลิม วัย 18 ปี ซึ่งร่วมยื่นคำร้องทางออนไลน์กล่าวว่า "ถ้ากฎหมายนี้ผ่าน ก็จะยิ่งตอกย้ำความคิดที่ว่า นี่ไม่ใช่ความผิดของผู้ล่วงละเมิดทางเพศ และพวกเขาก็จะรอดพ้นจากการถูกตำหนิ"
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า "การเติบโตขึ้นในกัมพูชา ฉันถูกสอนอยู่เสมอว่าให้กลับบ้านก่อน 2 ทุ่ม และไม่ให้เปิดเผยเนื้อหนังมังสามากเกินไป"
แม้ว่าการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งกายทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในโลกออนไลน์ แต่นักเคลื่อนไหวจำนวนมากก็กังวลเกี่ยวกับด้านอื่น ๆ ของร่างกฎหมายนี้ด้วย ร่างกฎหมายนี้ยังครอบคลุมถึง การห้ามคนที่ "มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ" ออกมาเดิน "ในที่สาธารณะอย่างเสรี" การห้าม "ขอทานทุกรูปแบบ" และการต้องขออนุญาตจากทางการในการ "ใช้พื้นที่สาธารณะ" ในการชุมนุมอย่างสันติด้วย
นักเคลื่อนไหวอย่าง จัก โซเพียบ ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา (Cambodian Centre for Human Rights) กล่าวว่า ถ้ากฎหมายนี้ผ่าน จะส่งผลกระทบต่อคนที่ยากจนที่สุดในสังคม
"มันอาจจะยิ่งทำให้เกิดความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม" เธอกล่าว
หากกระทรวงต่าง ๆ และรัฐสภาอนุมัติ ร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
นายอุก คิมเลก รัฐมนตรีมหาดไทย ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์บีบีซี โดยระบุว่าร่างกฎหมายเป็นเพียง "ร่างแรก" เท่านั้น
แต่จัก โซเพียบ กลัวว่าอาจจะมีการผ่านร่างกฎหมายนี้โดยไม่มีการตรวจสอบ ถ้าไม่มีการกดดันจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง
เธอกล่าวว่า "ในกัมพูชา กฎหมายต่าง ๆ มักจะมีการเร่งให้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ โดยแทบไม่มีเวลาให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอภิปรายเลย"
โมลิกา ทัน ยังคงหวังว่าคำร้องของเธอจะช่วยสร้างความตระหนักมากพอที่จะทำให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
"ฉันอยากแสดงให้เห็นถึงพลังของความรู้สึกที่มีต่อปัญหานี้" เธอกล่าว
"การแต่งตัว" - Google News
September 15, 2020 at 07:24AM
https://ift.tt/32sHcAS
ผู้หญิงกัมพูชาวิจารณ์ร่างกฎหมายที่กำหนดการแต่งกาย ห้ามนุ่งสั้น ฝ่าฝืนอาจถูกปรับ - บีบีซีไทย
"การแต่งตัว" - Google News
https://ift.tt/3gJUsWQ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment